เรื่องย่อ
เจ้าชายพิรียพงศ์ รัชทายาทแห่งแคว้นพรหมมินทร์ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสำหรับกษัตริย์กับ เจ้าชายโอริสสาวัฒนา หรืออีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าชายเสนาบดี ณ แคว้นกุสารัฐ ที่นั่นเจ้าชายพิรียพงศ์ทรงทราบว่า เจ้าหลวงกุสารัฐ ซึ่งทรงพระชราภาพ มีพระธิดาองค์เดียวซึ่งทรงมีพระสิริโฉมงดงามมากคือ เจ้าหญิงรัชทายาท ผู้ซึ่งจะขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา เจ้าหญิงเป็นที่หมายปองของเจ้าชายที่เป็นพระญาติพระวงศ์ โดยเฉพาะ เจ้าชายชัยฉัตร ซึ่งจบการทหาร และเจ้าชายบุษกร ผู้ซึ่งศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่เจ้าหญิงรัชทายาทไม่เคยมีพระเนตรประทานใครอื่นเลย นอกจากเจ้าโอริสสาวัฒนาแต่พระองค์เดียว แม้กระนั้นเจ้าชายโอริสสาวัฒนาก็ไม่เคยแสดงความสนพระทัยในองค์เจ้าหญิงรัชทายาทแม้แต่น้อย
เพราะพระองค์สนพระทัยอยู่แต่ภาระและหน้าที่ในฐานะเสนาบดีแห่งสมาพันธรัฐ ผู้อยู่เบื้องหลังการปกครองแคว้นกุสารัฐ ซึ่งกำลังระส่ำระสายด้วยการแก่งแย่งอำนาจ โดยฝ่ายของเจ้าชายชัยฉัตรและเจ้าชายบุษกร รวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ที่คิดกบฏ รวมถึงเทวีศุลีพร ที่ราชสำนักกุสารัฐนี่เอง เจ้าชายพิรียพงศ์ทรงเป็นทั้งลูกศิษย์และราชเลขานุการส่วนพระองค์ในเจ้าชายโอริสสาวัฒนา ทำให้เจ้าชายพิรียพงศ์ได้ทรงเรียนรู้ถึงพระปรีชาสามารถอันล้ำลึกในการปกครอง ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และการทูตในองค์เจ้าชายโอริสสาวัฒนา ทั้งยังทรงเห็นว่าทรงอุทิศพระวรกายและพระหฤทัยให้แก่หน้าที่เจ้าชายเสนาบดีอย่างเต็มพระกำลัง ทรงเปี่ยมได้ด้วยคุณธรรมและสถิตอยู่ในความยุติธรรม ทำให้ทรงเป็นที่รักและเคารพยำเกรงอย่างยิ่ง ต่อทุกคนที่ประพฤติอยู่ในทำนองครองธรรม
และเป็นที่เกลียดชังแก่ทุกคนที่ไม่หวังดีต่อราชบัลลังก์ โดยเฉพาะเจ้าชายบุษกรผู้ทรงวางแผนล้มราชบัลลังก์ร่วมกับ นายพลตรีสุรีเทพ และเทวีศุลีพร สาวผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ทำให้เจ้าชายโอริสสาวัฒนาต้องวางแผนรักษาราชบัลลังก์อย่างแยบยล ในช่วงเวลานี้นี่เองที่เจ้าชายพิรียพงศ์ได้ทรงทราบว่า เจ้าชายโอริสสาวัฒนาทรงเป็นสหายวัยเยาว์กับ เจ้าหญิงพรรณพิลาศ พระพี่นางของพระองค์ ทั้งคู่ได้ทรงเขียนจดหมายโต้ตอบสื่อสารกันเป็นนิตย์ไม่ขาดระยะ และมักทรงปรึกษาหารือส่วนพระองค์และราชการอยู่เสมอ จนมิตรภาพระหว่างทั้งสองพระองค์กลายเป็นความรักซึ่งฝังรากลึกในพระราชหฤทัยของสองพระองค์ เจ้าหญิงรัชทายาทก็ได้เสด็จมาปรึกษากับเจ้าชายพิรียพงศ์หลายครั้ง ในความที่ทรงน้อยพระทัยในเจ้าชายโอริสสาวัฒนา เลยทำให้เจ้าชายพิรียพงศ์ทรงสงสารและเห็นพระทัยเจ้าหญิงรัชทายาท จนเกิดเป็นความรักโดยไม่รู้พระองค์ เมื่อมีการประชุมสภาเพื่อเลือกราชทูตไปทำสันถวไมตรีกับประเทศยุโรป
เจ้าชายโอริสสาวัฒนาทรงแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการสนับสนุนเจ้าชายชัยฉัตร เพราะทรงมีคุณลักษณะเหมาะสมกว่าเจ้าชายองค์ใด จนในที่ประชุมเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ ทำให้เจ้าชายบุษกรผู้หวังในตำแหน่งนั้นไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเจ้าชายชัยฉัตรจึงหันมาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าชายโอริสสาวัฒนาอย่างไม่แคลงพระทัยอีกต่อไป สร้างความแค้นใจต่อเจ้าชายบุษกรมากยิ่งขึ้น ในระหว่างนั้นเองที่แคว้นพรหมมินทร์ เจ้าชายโสภณา แห่งแคว้นสาละวัณได้เสด็จประพาสแคว้นพรหมมินทร์ เจ้าหญิงพรรณพิลาศได้ทรงอักษรมาถวายเจ้าชายโอริสสาวัฒนาว่า เจ้าชายโสภณาทรงเป็นเจ้าชายรูปงาม แถมยังโปรดปรานศิลปะเช่นเดียวกับเจ้าหญิง และเจ้าชายยังสนพระทัยเจ้าหญิงอย่างสังเกตได้ชัด เหตุการณ์นี้จึงทำให้เจ้าชายโอริสสาวัฒนาทรงหนักพระทัย ด้วยเกรงว่าความรักจะหลุดลอย
ต่อมาเจ้าหลวงกุสารัฐก็ทรงประชวร มีรับสั่งให้เจ้าชายโอริสสาวัฒนาอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงรัชทายาท แต่เจ้าชายโอริสสาวัฒนาทรงปฏิเสธและแสดงความเห็นว่า เจ้าชายพิรียพงศ์มีคุณสมบัตินานัปการคู่ควรกับเจ้าหญิงรัชทายาท ซึ่งเจ้าหลวงกุสารัฐก็ต้องยินยอมตามความประสงค์นั้น สร้างความเสียพระทัยต่อเจ้าหญิงรัชทายาทเป็นอย่างยิ่ง เจ้าชายโอริสสาวัฒนาก็ทรงทูลลาเสด็จไปยังแคว้นพรหมมินทร์เป็นการด่วน เพื่อกีดกันเจ้าหญิงพรรณพิลาสกับเจ้าชายโสภณา เจ้าชายพิรียพงศ์จึงมีโอกาสใกล้ชิดเจ้าหญิงรัชทายาทและเริ่มรู้ใจกัน ที่แคว้นพรหมมินทร์ ท่ามกลางงานเลี้ยงอำลาเจ้าชายโสภณา ข้าหลวงมาทูลเจ้าหญิงพรรณพิลาศว่ามีผู้มาขอเฝ้า ในคืนนั้นเองพระสหายที่รักกันยิ่งก็ได้พบกัน หลังจากทรงจากกันมานานถึงสิบกว่าปี ทั้งสองพระองค์รำลึกถึงวันวานจนสัมพันธภาพลึกซึ้งและหวานชื่นเกินกว่าคำบรรยาย
รุ่งขึ้นก่อนเจ้าชายโสภณาจะเสด็จกลับทรงขอเจ้าหญิงพรรณพิลาศทรงเป็นราชินีแห่งแคว้นสาละวัน แต่เจ้าหญิงทรงปฏิเสธได้อย่างชาญฉลาด เจ้าชายโสภณาเสด็จจากไปด้วยความเสียพระทัย ที่แคว้นพรหมมินทร์เจ้าชายโอริสสาวัฒนาได้เข้าเฝ้าเจ้าหลวงพรหมมินทร์ ทูลข่าวเรื่องงานวิวาห์ของเจ้าชายพิรียพงศ์ และทูลขออภิเษกกับเจ้าหญิงพรรณพิลาศ ซึ่งเจ้าหลวงทรงตอบรับด้วยดี เมื่อเจ้าชายโอริสสาวัฒนาเสด็จกลับกุสารัฐ มรุต ราชองครักษ์ก็ทูลว่ามีการก่อกบฏซ่องสุมกันอยู่ในชนบท เจ้าชายโอริสสาวัฒนาจึงขอเข้าเฝ้าเจ้าหลวงกุสารัฐขอพระราชทานอำนาจให้เจ้าหญิงรัชทายาททรงประกาศกฎอัยการศึกปราบปรามกบฏ ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าชายบุษกรและพรรคพวก แล้วเจ้าชายโอริสสาวัฒนา, เจ้าชายพิรียพงศ์ และมรุตก็ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านที่มีสายรายงานว่าเป็นแหล่งซ่องสุม
มีการต่อสู้เกิดขึ้นจนมรุตได้รับบาดเจ็บ แต่เจ้าชายบุษกรและพรรคพวกหนีไปได้ และตั้งพระทัยที่จะอาฆาตเจ้าชายโอริสสาวัฒนาถึงชีวิต เจ้าชายชัยฉัตรซึ่งเสด็จยุโรปทรงทราบเรื่องกบฏ ก็รีบกลับกุสารัฐและพร้อมที่จะเป็นกำลังปราบปรามกบฏในครั้งนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นชายชาติทหาร แล้ววันอภิเษกของเจ้าหญิงรัชทายาทและเจ้าชายพิรียพงศ์ก็มาถึง เจ้าหลวงแห่งพรหมมินทร์และพระมเหสีเสด็จมาร่วมงาน เพื่อทรงปรึกษาเรื่องวันอภิเษกของเจ้าชายโอริสสาวัฒนาและเจ้าหญิงพรรณพิลาศต่อสภาสมาพันธรัฐ ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นชอบให้จัดงานขึ้นต่อจากงานอภิเษกของเจ้าหญิงรัชทายาทกับเจ้าชายพิรียพงศ์ งานอภิเษกของเจ้าหญิงรัชทายาทและเจ้าชายพิรียพงศ์ในครั้งนี้จัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างมโหฬารรวมทั้งงานซ้อมรบ เจ้าหญิงรัชทายาททรงทำใจเรียนรู้ที่จะรักเจ้าชายพิรียพงศ์
และเจ้าชายก็ทรงรักเจ้าหญิงแบบพระชายาแทนที่พระองค์จะทรงรักแบบพระสหายเช่นเดิม ในงานซ้อมรบที่จัดขึ้นในวันอภิเษกนั่นเองขณะที่เจ้าชายโอริสสาวัฒนาทรงม้าไปเก็บดอกหยาดฝน อันเป็นดอกไม้ประจำพระองค์เจ้าหญิงพรรณพิลาศ เจ้าชายบุษกรก็ใช้พระแสงปืนสังหารเจ้าชายโอริสสาวัฒนาสิ้นพระชนม์ลงต่อหน้าเจ้าชายพิรียพงศ์และมรุต เจ้าชายชัยฉัตรตามหาตัวคนร้ายอย่างบ้าคลั่ง จนในที่สุดก็สังหารเจ้าชายบุษกรอย่างเหี้ยมโหดสมกับบาปกรรมที่ทรงก่อไว้ เจ้าหลวงพรหมมินทร์เสด็จกลับแคว้นและนำข่าวร้ายมาบอกแก่พระธิดา เจ้าหญิงพรรณพิลาศทรงโศกเศร้าอาดูรสุดจะพรรณนา แต่แล้วก็ทรงพบว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นอยู่นั้นไม่คงทนแน่นอน สิ่งที่เราประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พอลืมตาขึ้นก็หายไปหมด เหมือนเป็นในฝันนั่นเอง”
|